ADBS และ AICA Asia Pacific ลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน เติมพอร์ทสินค้ากลุ่มยาแนว เสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานการผลิตและจำหน่ายกาวและเคมีภัณฑ์ในเครือ AICA
วันที่ 19 กันยายน 2567 AICA ASIA PACIFIC HOLDING PTE. LTD. (AAPH) ลงนามในสัญญาซื้อหุ้นเพิ่มทุน ADB Sealant Co.,Ltd (ADBS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.99% โดย บริษัท แอ็พพลาย ดีบี จำกัด (มหาชน) (ADB) ในสัดส่วนร้อยละ 51 หลังการเพิ่มทุน ADBS จะมีทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 645.09 ล้านบาท
ADBS เป็นผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายกาวอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมรองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์ยาแนวในรูปแบบหลอด (cartridge) และในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่ตอบโจทย์การใช้งานในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง อุตสาหกรรมงานตกแต่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลิตภัณฑ์กาวยาแนวในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กสำหรับใช้งานในครัวเรือน (DIY product) ADBS มีเทคโนโลยีและประสบการณ์การผลิตในระดับมืออาชีพมากกว่า 40 ปี มีฐานลูกค้าในประเทศไทยและฐานลูกค้าต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้ รวมถึงให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับสากล
การเข้าถือหุ้นของบริษัท AAPH ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและถือหุ้นทั้งหมดโดย AICA KOGYO CO., LTD. องค์กรสัญชาติญี่ปุ่นที่ประกอบกิจการมาร่วมศตวรรษ มีกลยุทธ์ในการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการเพิ่มผลประโยชน์ร่วมกันภายในเครือ AAPH ได้ขยายธุรกิจกาวอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ โดยดำเนินกิจการผ่าน 21 บริษัทย่อย และมี 22 โรงงานใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอัตราการเติบโตของธุรกิจเคมีภัณฑ์ในต่างประเทศเฉลี่ย 10% ต่อปี โดยเฉพาะการเติบโตในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียที่มีแบรนด์ที่ทรงพลัง มีเครือข่ายการขายและมีสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดค้าปลีก ผลิตภัณฑ์ยาแนวของ ADBS ถือเป็นสินค้าใหม่ที่ช่วยเติมเต็มพอร์ทสินค้าให้กับ AAPH ในตลาดต่างประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์กาวแบบใช้ตัวทำละลาย (Solvent-based adhesive) ที่ ADBS มีส่วนแบ่งการตลาดสูงในประเทศไทย เมื่อร่วมมือกันจะสามารถใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยี ช่วยส่งเสริมแผนขยายส่วนแบ่งการตลาดของกาว เป็นห่วงโซ่อุปทานในแนวตั้งแบบบูรณาการที่รวมการผลิตและการขายเข้าไว้ด้วยกัน
การร่วมมือระหว่างสองบริษัทจะช่วยเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันผ่านการใช้ประโยชน์จากพลังของแบรนด์และเครือข่ายการขายของทั้งสองฝ่ายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพิ่มสัดส่วนการผลิตเพื่อได้รับประโยชน์จากขนาด เสริมความแข็งแกร่งและความหลากหลายของแบรนด์ เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทำให้ตำแหน่งทางการตลาดในตลาดค้าปลีกของบริษัทในภูมิภาคเอเชียแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.set.or.th/…/news-and-alert/newsdetails…